รฟท.ปิดทางตัดรถไฟจุดเสี่ยงสูงถาวร ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ปชช.ใช้เป็นทางลัดผ่านในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มอบหมายให้นายดาโอะ มามะ รักษาการสารวัตรแขวงบำรุงทางตันหยงมัส พร้อมด้วยนายประชานิวัฒน์ บัวศรี ผู้ช่วยสารวัตรแขวงรถจักรหาดใหญ่ นายธเนส ตาเมืองมูล ผู้ช่วยสารวัตรแขวงบำรุงทางตันหยงมัส นายศุภกิจ เสนนอก ปลัดอำเภอเจาะไอร้องฝ่ายงานปกครอง นายเกรียงไกร ธารประสพ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส และนายธำรงค์ มากชิต ผู้จัดการบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัดสาขานราธิวาส เดินทางลงพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เพื่อทำการตรวจสอบพื้นที่จุดตัดรถไฟในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอุบัติเหตุตรงจุดตัดทางรถไฟร่วมกัน ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหามาตรการลดการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดรถไฟ โดยกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ทุกจังหวัด ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจุดตัดทางรถไฟในพื้นที่ เพื่อนำมาสู่การแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ทางด้านนายประชานิวัฒน์ บัวศรี ผู้ช่วยสารวัตรแขวงรถจักรหาดใหญ่ เปิดเผยว่า หลังจากได้มีมติกับทางอำเภอเจาะไอร้อง ร่วมกับกำนันผู้ใหญ่บ้านในท้องถิ่น โดยทางการรถไฟฯร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส อำเภอเจาะไอร้อง และป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส มีมติให้อำเภอเจาะไอร้องเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาทางลัดผ่าน โดยในวันนี้ได้เริ่มดำเนินการด้วยกันทั้งหมด 6 จุด โดยเสนอว่าควรปิดถาวรจำนวน 6 จุด เพราะมีประชาชนสัญจรข้ามไม่มากนัก ประกอบด้วย จุดที่อยู่ในเขตหมู่ที่ 6 บ้านบูเกะ จำนวน 1 จุด จุดที่อยู่ในเขตหมู่ที่ 3 บ้านโต๊ะเล็ง จำนวน 1 จุด จุดที่อยู่ในเขตหมู่ที่ 9 บ้านบือราแง จำนวน 3 จุด จุดที่อยู่ในเขตหมู่ที่ 4 บ้านกูเว จำนวน 1 จุด ในส่วนของจุดผ่อนปรนมี 4 จุด และเห็นว่าควรผ่อนปรนให้ประชาชนสัญจรไปก่อน จำนวน 4 จุด เพราะยังมีประชาชนที่มีความจำเป็นต้องสัญจรข้ามมากพอสมควร ดังต่อไปนี้
จำนวน จุดที่อยู่ในขตหมู่ที่ 1 บ้านเจาะเกาะ 1 จุด จุดที่อยู่ในเขตหมู่ที่ 4 บ้านกูเว ทางไปโรงเรียนรุ่งอรุณ จำนวน 1 จุด จุดที่อยู่ในเขตหมู่ที่ 5 บ้านสะเตียร์
จำนวน 1 จุด และจุดที่อยู่ในเขตหมู่ที่ 8 บ้านไอสะเตียร์จำนวน 1 จุด โดยเพิ่มระยะการมองเห็นตั้งแต่ขอบรางรถไฟออกไปยังถนนระยะทาง 40 เมตร และต้องปรับระยะการมองเห็น (ระยะ A) คือจากขอบถนนไปข้างละ 150 เมตร แต่จะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางบดบังการมองเห็นทั้งรถยนต์และรถไฟ
อย่างไรก็ตาม รฟท. ร่วมกับจังหวัดและชุมชนจะดำเนินการตรวจสอบจุดตัดทางลัดผ่านที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งประสานหน่วยงานเจ้าของถนนทางผ่าน เพื่อพิจารณาจุดตัดที่จะต้องติดตั้งเครื่องกั้นทางรถไฟอัตโนมัติ ส่วนทางลัดผ่านขนาดเล็กจะดำเนินการปิด รวมทั้งจุดตัดทางรถไฟ โดยจะต้องมีการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ (Collector Road) เพื่อข้ามทาง ณ จุดที่ปลอดภัยแทนอีกด้วย
ข่าว/กรียา เต๊ะตานี/นราธิวาส